เนื้อหาที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง ในส่วนนี้ได้แก่
“….กรุงเทพฯต้องมีพื้นที่หายใจ แต่ที่นี่เราถือว่าเป็นไตกำจัดสิ่งสกปรกและโรค สวนสาธารณะถือว่าเป็นปอด แต่นี้เหมือนไตฟอกเลือดถ้าไตทำงานไม่ดีเราตาย อยากให้เข้าใจหลักของความคิดอันนี้…”
บึงมักกะสันเป็นบึงใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ขุดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2474 เพื่อใช้เป็นแหล่งระบายน้ำและรองรับน้ำเสียจากโรงงานรถไฟมักกะสัน รอบบึงมักกะสันมีชุมชนแออัดมากกว่า 1,000 ครัวเรือน เป็นแหล่งสิ่งปฏิกูล และขยะมูลฝอย จนเกิดปัญหาภาวะสิ่งแวดล้อม เสื่อมโทรม และน้ำเน่าเสีย กลายเป็นแหล่งมลพิษที่น่าเป็นห่วง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยแห่งมลภาวะมลนี้ จึงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปรับปรุง บึงมักกะสันอย่างประหยัด และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมบึง และให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต ได้พระราชทานวิธีบำบัดน้ำเสียในบึงมักกะสันด้วยการใช้ “เครื่องกรองน้ำธรรมชาติ” ที่เรียกว่า ระบบ Oxidation Pond หรือ “ระบบสายลมและแสงแดด” ดำเนินการโดยขุดบ่อดินความลึก 0.5 – 2 เมตร ให้แสงส่องลงไปได้ถึงก้นบ่อจากนั้น จึงใส่ผักตบชวาซึ่งเป็นวัชพืชที่ต้องการกำจัดอยู่แล้ว เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับ สารอาหาร และโลหะหนัก ในน้ำเสีย ทำให้สามารถบำบัดน้ำเสีย ได้วันละ 30,000 – 100,000 ลุกบาศก์เมตร
การทำงานของระบบ อาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างพืชน้ำกับแบคทีเรีย แบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน ที่เรียกว่า Symbiosis โดยในเวลากลางวัน ผักตบชวาซึ่งเป็นพืชน้ำสีเขียว จะทำการสังเคราะห์แสง โดยใช้คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ในน้ำและแสงแดด ผักตบชวาจะนำคาร์โบไฮเดรตไปใช้สร้างเซลล์ใหม่ ส่วนออกซิเจนที่เป็นผลพลอยได้นั้นจะถูกแบคทีเรียนำไปใช้ในการย่อยสลายน้ำเสีย ซึ่งผลของปฏิกิริยานี้ จะได้คาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบ สำคัญในการดำรงชีพของผักตบชวา น้ำที่ทำการบำบัดแล้วนี้ มีความสะอาดพอที่จะส่งคืน ไปเจือจางน้ำเสียในคลองสามเสน ขณะเดียวกันก็ดึงน้ำจากคลองสามเสน มาทำการบำบัดต่อไป ทำให้สามารถช่วยระบายน้ำและบรรเทาสภาพน้ำเสีย ในคลองสามเสนและคลองแสนแสบอย่างได้ผล เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีกลิ่นเหม็นให้เดือดร้อนรำคาญ ส่งผลให้พสกนิกรทั้งหลายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น