ข้อมูลโดยสรุป

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริ ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ดำเนินการจัดทำศูนย์นิทรรศการและแสดงแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาในด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ ด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านพลังงานเพื่อเผยแพร่แนวพระราชดำริให้กว้างขวางและลึกซึ้ง ตลอดจนสาธิตความเป็นอยู่วิถีไทยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อโครงการแห่งนี้ว่า “ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

ทางเข้า ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ

โครงการตั้งอยู่บริเวณบ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลและกิจกรรมที่แสดงให้เห็นโครงการอันเนื่องอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งแนวทางการพัฒนาตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงมุ่งการพัฒนาด้วยการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพของ คน ดิน น้ำ ป่า อย่างเป็นระบบ

การดำเนินงานและกิจกรรมภายในศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ประกอบด้วย

  • พิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง เป็นอาคารนิทรรศการจัดแสดงแนวคิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยแบ่งแสดงแนวคิดการบริหารจัดการเป็น 4 ส่วน คือ การบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการป่า และการบริหารจัดการมนุษย์ ประกอบด้วยเรื่องของ ดิน หญ้าแฝก น้ำ ฝนหลวง กังหันน้ำชัยพัฒนา การบำบัดน้ำเสียบึงมักกะสัน ทฤษฎีใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
  • พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เป็นการจำลองแนวทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริต่างๆ มาจัดแสดงให้เห็นจริง ด้วยการจำลองป่า และภูมิประเทศของประเทศไทยทั้ง 4 ภาค โดยสอดแทรกปัญหาและแนวทางการจัดการเกี่ยวกับการปรับปรุง และพัฒนาที่ดิน การอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำ ลำธาร และป่าต้นน้ำ อาทิ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง รวมถึงการจัดแสดงเกษตรทฤษฎีใหม่ และชีวิตที่พอเพียงกับวิถีชีวิตของคนไทย รวมทั้งยังมีฐานงาน เพื่อใช้ฝึกปฏิบัติสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม ได้แก่ การเตรียมแปลงผัก นาข้าว เตาถ่าน อิฐประสาน บ้านดิน และธนาคารต้นไม้ เป็นต้น
  • การศึกษาดูงาน และการฝึกอบรมหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง โดยอาศัยภูมิปัญญาในท้องถิ่น นำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เช่น หลักสูตรบ้านดิน การทำนา การสีข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอวิถีชีวิต และภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งจะเป็น “อาศรมปัญญา” โดยการรวบรวมผู้มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่จะหมุนเวียนมาช่วยคิดช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจ เช่น สมุนไพร นวดแผนโบราณ ปลาสวยงาม ช่างฝีมือ เป็นต้น
SONY DSC

พื้นที่อบรม ณ ศูนย์ภูมิรักษ์

ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จึงนับเป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติมีชีวิต” เพราะให้ผู้สนใจได้ศึกษา ทดลอง และเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้ได้รับทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความเพลิดเพลิน นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดความรู้ โดยรู้จักการช่วยเหลือตนเอง ใช้ภูมิปัญญาประกอบกับความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยได้ดำเนินการเพื่อเผยแพร่แนวคิดเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆดังนี้

1.เปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามาศึกษาดูงาน โดยไม่มีวันหยุด
2.จัดให้มีการอบรมเพื่อเผยแพร่แนวคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่ส่วนงานต่างๆ
3.ออกบรรยายให้แก่ส่วนงานต่างๆที่สนใจ
4.เข้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กับเครือข่ายต่างๆทั่วประเทศ