พิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง - เรื่องที่ 7 : ทฤษฏีใหม่

เนื้อหาที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง ในส่วนนี้ได้แก่

“ …ทฤษฎีใหม่…ยืดหยุ่นได้ และต้องยืดหยุ่น เหมือนชีวิตของคนเราทุกคนต้องมียืดหยุ่น..”

( พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จ.เพชรบุรี )

 

ปัญหาที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเกษตรกรไทย คือการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก เนื่องจากพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศ ทำการเกษตรโดยอาศัยน้ำฝน ซึ่งทำการเพาะปลูกได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น ยังมีความเสี่ยงต่อความเสียหาย อันเนื่องมาจากความแปรปรวนของดิน ฟ้า อากาศ และฝนทิ้งช่วง แม้จะมีการขุดบ่อหรือสระเก็บน้ำไว้ใช้บ้าง แต่ก็มีขนาดและปริมาณเก็บกักไม่แน่นอน หรือมีปัจจัยอื่นที่เป็นปัญหาทำให้มีน้ำใช้ไม่เพียงพอ รวมทั้งระบบ การปลูกพืชก็ไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆส่วนใหญ่แล้ว ปลูกพืชเพียงชนิดเดียว

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากดังกล่าวให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติ โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำโดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก

พระราชดำรินี้ ทรงเรียกว่า “ ทฤษฏีใหม่” อันเป็นแนวทางหรือหลักการในการ บริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย

1.บริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร

2.คำนวณโดยหลักวิชาการ เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมตลอดทั้งปี

3.วางแผนอย่างสมบูรณ์แบบ สำหรับเกษตรกรรายย่อย

ทฤษฏีใหม่ขั้นต้น

การจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30: 30:10 ของพื้นที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณและคำนึงจากอัตราถือครองที่ดิน เฉลี่ยครัวเรือนละ 15 ไร่ แต่ก็ไม่ใช่หลักตายตัว เกษตรกรจะมีที่ดินน้อยหรือมากกว่านี้ก็สามารถนำอัตราส่วนนี้ไปปรับใช้ได้

พื้นที่ส่วนที่ 1 ประมาณ 30% เนื้อที่เฉลี่ย 4.5 ไร่ ให้ทำการขุดสระ ความลึกประมาณ 4 ม. เก็บกักน้ำฝนไว้ให้ใช้ในการเพาะปลูกซึ่งจะสามารถจุน้ำได้ประมาณ 19,200 ลบ.ม. ราษฎรสามารถนำน้ำจากสระนี้ไปใช้ได้ตลอดปี ทั้งยังสามารถเลี้ยงปลา และปลูกพืชน้ำ พืชริมสระน้ำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง

พื้นที่ส่วนที่ 2 ประมาณ 30% ประมาณ 4.5 ไร่ ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน

พื้นที่ส่วนที่ 3 ประมาณ 30% ประมาณ 4.5 ไร่ ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ฟืน พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภค ก็นำไปจำหน่าย ตามแต่สภาพของพื้นที่ และสภาวะการตลาด

พื้นที่ส่วน 4 ประมาณ 10 % มีเนื้อที่ประมาณ 1.5 ไร่ จัดเป็นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง คันคู ลานบ้าน กองปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ แปลงผักสวนครัว ปลูกไม้ดอกไม้ประดับไว้ตัดขาย และอื่นๆ

นอกจากนี้ถ้าหากจัดให้มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่คอยเติมน้ำให้แก่สระน้ำขนาดเล็กที่ขุดไว้ในส่วนแรกอยู่เสมอก็จะทำให้แนวทางปฏิบัติของเกษตรทฤษฏีใหม่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ทฤษฏีการคำนวณการใช้น้ำในกรณีที่ฝนทิ้งช่วง

- นา 4.5 ไร่ใช้น้ำ 9,000 ลบ.ม.

- ไร่นาสวนผสม 4.5 ไร่ ใช้น้ำ 9,000 ลบ.ม.

- ฝนไม่ตกเลย 300 วัน เหลือน้ำ 1,200 ลบ.ม.

- เมื่อฝนมาต้องเก็บน้ำไว้ใช้ต่อไป

ทฤษฏีใหม่ขั้นก้าวหน้า

เป็นการรวมพลังของเกษตรกรในรูปของการรวมกลุ่มหรือสหกรณ์ในการดำเนินงาน ด้านต่างๆ รวมกัน โดยมีหน่วยราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ นั้น ได้แก่การผลิตการตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ และการศึกษา

ทฤษฏีใหม่ขั้นที่ 3

เมื่อเกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิตและจำหน่ายจนเป็นฝึกแผ่นก็ควรติดต่อหาแหล่งเงินทุน เช่น ธนาคาร เพื่อการจัดตั้งและบริหารโรงสี การจัดตั้งและบริหารสหกรณ์ และเพื่อช่วยการลงทุนต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น