พิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง - เรื่องที่ 3 : น้ำ

เนื้อหาที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง ในส่วนนี้ได้แก่

“ น้ำคือชีวิต”

“… หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั้น
ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้
ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…”

( พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พระราชทาน ณ สวนจิตรลดา วันที่ 17 ธันวาคม 2529)

เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2520 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร และทอดพระเนตรพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ในอำเภอชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อที่จะทรงหาทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรนั้น ได้มีพระราชดำรัสในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยทรงกำชับว่า

 

“…การที่จะมีต้นน้ำลำธารไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การรักษาป่า และปลูกป่าบริเวณต้นน้ำ ซึ่งบนยอดเขา และเนินสูงนั้น ต้องมีการปลูกป่าโดยปลูกไม้ยืนต้น ปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้น ราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นนั้น จะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกหนัก อีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไม้ไว้ให้ดีแล้ว ท้องถิ่นก็จะมีน้ำไว้ใช้ชั่วกาลนาน ในป่าต้นน้ำลำธารที่ไม่มีคนบุกรุก อย่าให้คนเข้าไปตั้งหลักแหล่งใหม่ หากไม่มีคนดีก็ดี แล้วอย่าได้นำเข้ามาอีก…ในป่าต้นน้ำลำธารไม่ควรให้มีสิ่งปลูกสร้างอะไรทั้งสิ้น รักษาควบคุมให้ได้…”

 

การพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

มีหลักการและวิธีการที่สำคัญ คือ

1.การพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปใด ต้องเหมาะสมกับรายละเอียดของสภาพภูมิประเทศเสมอ

2.การพิจารณาวางโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้องเหมาะสมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีในแต่ละท้องถิ่น

3.พิจารณาถึงความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างความเดือดร้อน ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง

แนวพระราชดำริในการบริหาร และพัฒนาทรัพยากรน้ำ

1.พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของทุกภูมิภาคในประเทศ เป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน จึงต้องอาศัยน้ำฝน และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก จึงต้องรักษาพื้นที่แหล่งต้นน้ำ ลำธาร บริเวณยอดเขาไว้ให้ได้ เพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

2.พื้นที่จากยอดเขา และกลางเขา กันไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์มีไม้พันธุ์เดิมของป่าขึ้นอยู่ ต้องไม่ยอมให้น้ำจากลำธารไหลไปเปล่าๆ ต้องเก็บกักน้ำเอาไว้ด้วย ฝายชะลอความชุ่มชั้น (Check Dam) ให้แผ่นดินอมน้ำเอาไว้ให้นานที่สุด เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นป่าอนุรักษ์ และสองฝั่งลำธาร ให้เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี ในลักษณะของป่าเปียกมีประโยชน์ทั้งการป้องกันไฟป่า และ การอนุรักษ์ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ แล้วจึงปล่อยให้น้ำจำนวนนี้ ไหลไปตามเส้นทางธรรมชาติ

3.พื้นที่บริเวณกลางเขา ถึงเชิงเขา ที่มีราษฎรอยู่อาศัยทำสวนไม้ผล และเป็นป่าเศรษฐกิจ ก็ทรงให้เก็บกักน้ำจำนวนเดิมเอาไว้อีกแต่ต้องเพิ่มปริมาตรน้ำให้มากขึ้นในลักษณะของอ่างเก็บน้ำ ต่อท่อส่งน้ำไปแจกจ่ายพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณนี้

4.บริเวณพื้นราบ ถ้าทำได้ ก็สร้างอ่างเก็บน้ำอีกครั้ง คราวนี้เพื่อชาวนา ชาวไร่ที่พื้นราบ แล้วทำท่อปล่อยน้ำเขาไร่นา ทั้งเพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภค น้ำจำนวนเดียวกันนั้น จึงสามารถหล่อเลี้ยงชีวิต พืชพันธุ์ได้ทั่วทั้งภูเขา

5.แล้วจึงปล่อยน้ำจำนวนดังกล่าวเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แม่น้ำ ลำคลอง เพื่อผสมกับน้ำเสียที่ไหลออกจากเมือง ซึ่งถ้าทำได้ ก็จะใช้น้ำนี้เจือปน หรือบำบัดน้ำเสียที่ออกมาจากเมืองด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ซึมซับน้ำเสียด้วยธูปฤาษี กก ผักตบชวา

6.เมื่อน้ำที่บำบัดแล้วนี้ไหลไปถึงปลายทางบริเวณชายฝั่งทะเล ก็หาทางกระจายน้ำเหล่านั้นออกไปยังพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ หรือนำน้ำที่มีคุณภาพน้ำดี พอที่จะให้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาในกระชัง

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

มีวัตถุประสงค์ เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ แต่ก็มีหลายโครงการที่มีวัตถุประสงค์หลายๆ อย่างพร้อมกัน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติเป็นส่วนรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ

1.ช่วยให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้ำอย่างอุดมสมบูรณ์ เพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง หรือทำการเพาะปลูกครั้งที่สองได้ ช่วยเพิ่มผลผลิตและทำให้ราษฎมีรายได้มากขึ้น

2.บางท้องที่เคยมีน้ำท่วมขังจนไม่สามารถใช้ทำการเพาะปลูก หรือไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น บริเวณขอบพรุ ทำให้พื้นดินแห้งลงจนสามารถจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเองเข้าทำกินได้ ไม่ไปบุกรุกทำลายป่าหาที่ทำกิน เป็นการช่วยรักษาป่าไม้อันเป็นทรัพยากรของชาติไว้ได้

3.เมื่อมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆไว้ก็มีการปล่อยพันธุ์ปลาทำให้ราษฎรตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง สามารถมีปลาบริโภคภายในครอบครัวหรือเสริมรายได้ขึ้น

4.ช่วยให้ราษฎรมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สะอาดอย่างพอเพียงตลอดปี ทำให้ราษฎรมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้น และยังช่วยให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงสัตว์ด้วย

5.บางโครงการจะมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองใหญ่เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยลดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลเป็นอันมาก

6.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ช่วยให้ราษฎรที่อยู่ในป่าเขาในท้องที่ทุรกันดาร ได้มีไฟฟ้าใช้สำหรับแสงกสว่างในครัวเรือน

7.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการรักษาต้นน้ำลำธารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยการสร้างฝายเก็บกักน้ำบริเวณต้นน้ำลำธาร เป็นชั้นๆ พร้อมระบบกระจายน้ำจากฝายต่างๆ ไปสู่พื้นที่สองฝั่งของลำธาร ทำให้พื้นดินชุ่มชื้น และป่าไม้ตามแนวสองฝั่งลำธาร จะเขียวชอุ่มตลอดปี ลักษณะเป็นป่าเปียก สำหรับป้องกันไฟป่าเป็นแนวกระจายไปทั่วบริเวณต้นน้ำลำธารทำให้ทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ต่อไป

ฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam )

เป็นแนวพระราชดำริ ทฤษฏีการพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ โดยการใช้ทรัพยากรที่เอื้ออำนวยสัมพันธ์ซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอยู่รอดของป่าไม้ ซึ่งตัวแปรแห่งความอยู่รอดของป่าไม้นั้น คือ “น้ำ” ทรงใช้เครื่องมือที่จะยังประโยชน์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟู ป่าไม้ที่ได้ผลดีที่สุดก็ด้วยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้นกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความชาดชันสูง และหาช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง

 

 

“…ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ…”

“…สำหรับต้นน้ำ ไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับ ก็ควงสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตาม สำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก…”

( พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2521 ณ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน )

 

“…ควรสร้างฝายต้นน้ำลำธารตามร่องน้ำเพื่อช่วยชะลอกระแสน้ำ และเก็บกักน้ำสำหรับสร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณต้นน้ำ…”

( พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2532 ณ ดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ )

ดังนั้น จะเห็นว่าการก่อสร้างฝายต้นน้ำ จึงเป็นแนวทางหรือวิธีการหนึ่ง ในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้บริเวณต้นน้ำลำธารให้ฟื้นคืนสภาพทางนิเวศที่เหมาะสม และความหลากหลายทางชีวภาพแก่สังคมของพืชและสัตว์ ตลอดจนนำความชุ่มชื้นมาสู่แผ่นดิน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Google photo

You are commenting using your Google account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s