พิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง - เรื่องที่ 2 : หญ้าแฝก

เนื้อหาที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง ในส่วนนี้ได้แก่

หญ้าแฝก

หญ้าแฝก ที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ

“…ดินแข็งอย่างนี้ใช้การไม่ได้ แต่ถ้าเราทำแนวหญ้าแฝกที่เหมาะสม มีฝนลงมาความชื้นก็จะอยู่ในดิน รากแฝกมันลึกมาก ถึงให้เป็นเขื่อนกั้นแทนที่จะขุด พืชจะเป็นเขื่อนที่มีชีวิต แล้วในที่สุดเนื้อที่ตรงนั้น ก็จะเกิดเป็นดินผิว เราจะปลูกอะไรก็ได้ ปลูกต้นไม้ก็ได้ ปลูกผักปลูกหญ้าอะไรก็ได้ทั้งนั้น…”

( พระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวระหว่างเสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระเนตรงาน โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2535 )

ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มผลผลิต และรายได้ของประเทศมาจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากกว่า การเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ จนถึงขณะที่ประมาณได้ว่า พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมได้ใช้ไปจนเกือบหมด และเกษตรกรพยายามหาพื้นที่ชดเชยด้วยการอพยพโยกย้าย เข้าไปอยู่กระจัดกระจายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะการใช้ที่ดินกันอย่างขาดความระมัดระวัง และไม่มีการบำรุงรักษา ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมโทรม ทั้งด้านเคมี และกายภาพ นอกจากนั้นแต่ละปียังเกิดภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม และฝนแล้ง ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินอย่างต่อเนื่อง พื้นดินเสื่อมโทรมแห้งแล้งจนถึงขั้นวิกฤตกินอาณาบริเวณกว้างขวางถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ หรือประมาณ 107 ล้านไร่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาและวิเคราะห์พบว่า “หญ้าแฝก” สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ดิน และน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เปรียบเสมือนกำแพงที่มีชีวิต ช่วยรักษาความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ของดิน สำหรับการปลูกพืช และรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ได้ จึงทรงพระราชทานพระราชดำริ ให้เกษตรกรใช้หญ้าแฝกแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านั้น เพราะขั้นตอนการดำเนินงานเป็นวิธีการแบบง่ายๆ ประหยัด และที่สำคัญคือ เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้โดยไม่ต้องให้การดูแลภายหลังการปลูกมากนัก เป็นการนำไปสู่การพัฒนาระบบเกษตรกรรมในเขตพื้นที่การเกษตรน้ำฝนที่มั่นคง และยั่งยืน ทั้งยังสามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น

- พื้นที่ภูเขาป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และกักเก็บความชื้นไว้

- พื้นที่ราบเพื่อให้รากแผ่อุ้มน้ำไว้ ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน กักเก็บไนโตรเจนไว้ และสิ่งที่เป็นพิษไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง

- ปลูกรอบพื้นที่กักเก็บน้ำ ป้องกันดินพังทลายของอ่างเก็บน้ำ ช่วยให้ป่าไม้รับน้ำอย่างรวดเร็ว

- พื้นที่เหนือแหล่งน้ำ ปลูกเป็นแนว ป้องกันตะกอนและดูดซับสารเคมี

 

หญ้าแฝกที่พบตามธรรมชาติในประเทศไทยมี 2 ชนิดคือ หญ้าแฝกหอม และหญ้าแฝกดอน จัดเป็นหญ้าเขตร้อน ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในสภาพแวดล้อมต่างๆ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vetiveria zizanioodes เป็นพืชกระกูลหญ้า ขึ้นเป็นกอหนาแน่น เจริญเติบโตโดยการแตกกออย่างรวดเร็ว เส้นผ่าศูนย์กอประมาณ 30 ซม. ความสูงจากโคนถึงยอดประมาณ 0.5-1.5 ม. ใบค่อนข้างแข็ง ยาวประมาณ 75 ซม. กว้างประมาณ 8 มม.

หากนำมาปลูกติดต่อกันเป็นแนวยาว ขวางแนวลาดเขาของพื้นที่ กอซึ่งอยู่เหนือดินจะแตกกอ ติดต่อกันเหมือนรั้วต้นไม้ สามารถกรองเศษพืช และตะกอนดิน ซึ่งถูกน้ำชะล้างพัดพามาตกทับถม ติดอยู่กันกอหญ้า เกิดเป็นคันดินตามธรรมชาติได้

หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึก เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในแนวดิ่งมากกว่าออกทางด้านข้าง และมีจำนวนรากมาก จึงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ รากหญ้าแฝกจะประสานติดต่อกันแน่นหนา เหมือนตาข่าย หรือกำแพงใต้ดิน สามารถกักเก็บน้ำ และความชื้น และป้องกันการกัดเซาะของน้ำที่ทำให้เกิดร่องขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นจากด้านล่างของแนวลาดชันย้อนขึ้นมาด้านบน เมื่อถึงแนวหญ้าแฝกก็จะหยุดเพียงเท่านั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวคันดินไม่สามารถจะหยุดยั้งได้

ระบบรากของหญ้าแฝก แผ่ขยายกว้างเพียง 50 ซม. โดยรอบกอเท่านั้น จึงไม่เป็นอุปสรรค ต่อพืชที่ปลูกข้างเคียง ทั้งยังสามารถดูดซึมสารเคมี แร่ธาตุอาหารพืชที่ถูกชะล้างลงไปในดิน เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชไว้ในลำต้น เป็นการป้องกันไม่ใช้สารเคมีเหล่านั้นไหลลงไปยังแหล่งน้ำ ปลอดภัยจากกการเกิดมลภาวะทางน้ำ

ใบ ( Leaf )

ใบของหญ้าแฝกจะแตกออกจากโคนกอ มีลักษณะแคบยาว ขอบใบขนานปลายสอบแหลม แผ่นใบกร้าน มีความสาก โดยเฉพาะใบแก่ ขอบใบและเส้นกลางใบ หนามละเอียด (Spinulose) หนามบนใบที่มีส่วนโคนและกลางแผ่นจะมีน้อย แต่จะมีมากที่บริเวณปลายใบ มีลักษณะตั้งทแยง ปลายหนามชี้ขึ้นไปทางปลายใบ กระจัดหรือเยื่อกันน้ำฝนที่โคนไป (Ligule) จะลดรูปมีลักษณะเป็นเพียงส่วนโค้งของขนสั้นละเอียด บางครั้งสังเกตได้ไม่ชัดเจน

ลำต้น (Culm)

หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ มีลักษณะเป็นพุ่ม ใบบางตั้งตรงขึ้นสูง มีการขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ หรือกระจายกันอยู่ไม่ไกลมากนัก กอแฝกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ โคนกอเบียดกันแน่น เป็นลักษณะเฉพาะอันหนึ่งที่แตกต่างจากหญ้าอื่นๆ ค่อนข้างชัดเจน ส่วนโคนของลำต้นจะแบน เกิดจากส่วนโคนใบที่จัดเรียงทับซ้อนกัน ลำต้นแท้จะมีขนาดเล็กซ้อนอยู่ในกาบใบบริเวณคอดิน หญ้าแฝกจะมีการเจริญเติบโต และแตกกอ โดยจะมีการแตกหน่อใหม่ทดแทนต้นเก่าอยู่เสมอ โดยแตกหน่อออกทางด้านข้างรอบกอ ทำให้กอมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

ราก ( Roots )

รากเป็นส่วนสำคัญ และเป็นลักษณะพิเศษของหญ้าแฝก ที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นหลัก หญ้าแฝกส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะมีรากที่เป็นลักษณะระบบรากฝอย (Fibrous roots) แตกจากส่วนลำต้นใต้ดิน กระจายออกแผ่กว้างเพื่อยึดพื้นดินตามแนวนอน ( horizontal) จะมีระบบรากในแนวดิ่ง (Vertical) ไม่ลึกมาก แต่ระบบรากของหญ้าแฝกจะแตกต่างจากรากหญ้าส่วนใหญ่ทั่วไป คือมีรากที่สานกันแน่นหยั่งลึกแนวดิ่งลงในดิน ไม่แผ่ขนาน มีรากแกน รากแขนง โดยเฉพาะ มีรากย่อยแนวดิ่งจำนวนมาก