เนื้อหาที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง ในส่วนนี้ได้แก่
“…แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี้ให้ลงมาได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้…”
โครงการฝนหลวง
เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ.2495 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ความทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรอันเนื่องมาจากภาวะภัยแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปรกติหรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่า
ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง” ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียม หรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 โดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (dry ice หรือ solid carbondioxide) ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่นและก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่และจากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน ก็ได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากกราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคบเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ด้วยความสำเร็จของโครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ในปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริ “ ฝนหลวง” ต่อไป
ขั้นตอนการทำฝนหลวงจากเมฆอุ่น
จากการที่ทรงติดตามผลการทดลอง ควบคู่กับปฏิบัติการและทรงวิเคราะห์วิจัยติดตามปฏิบัติการทดลองอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสนพระทัยศึกษาจากเอกสารวิชาการจึงทรงสามารถพัฒนากรรมวิธี “การทำฝนจากเมฆอุ่น” ที่ทรงสรุปขั้นตอนกรรมวิธี ในปี พ.ศ. 2516 แล้วพระราชทานให้ไปเป็นหลักในการปฏิบัติการสืบเนื่องมา
โดยมี 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน
เป็นการดัดแปรสภาพอากาศขณะนั้นเพื่อเร่งหรือเสริมการเกิดและก่อรวมตัวของเมฆด้วยการก่อกวนสมดุล (Equilibrium) หรือเสถียรภาพ (Stability) ของมวลอากาศเป็นแห่งๆ โดยการโปรยสารเคมีประเภทดูดความชื้นแล้วทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ในท้องฟ้าที่ระดับใกล้เคียงกับระดับกลั่นตัวเนื่องจาก การไหลพาความร้อนในแนวตั้ง (Exothermic chemicals) ซึ่งเป็นระดับฐานเมฆของแต่ละวัน และโปรยสารเคมี ประเภทที่เมื่อดูดซับความชื้นแล้วทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง (Endothermic, chemicals) ที่ระดับสูงกว่าระดับฐานเมฆ 2,000-3,000 ฟุต ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เกิดเมฆเร็วขึ้นและปริมาณมากกว่าที่เกิดตามธรรมชาติ โดยเริ่มก่อกวนในช่วงเวลาเช้าทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย หวังผลที่วางแผนกำหนดไว้ในแต่ละวัน
ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน
เป็นการดัดแปรสภาพอากาศและเมฆขณะนั้น เพื่อเร่งหรือเสริมการก่อตัวของเมฆให้ขนาดใหญ่หนาแน่น และมีปริมาณหยดน้ำมากยิ่งขึ้น ด้วยการกระตุ้นหรือเร่งการเจริญเติบโตของก้อนเมฆ ที่ก่อตัวด้วยการโปรยสารเคมีประเภทที่เมื่อดูดซับความชื้น แล้วทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงที่ระดับฐานเมฆหรือทับยอดเมฆ หรือระหว่างฐานและยอดเมฆ โดยบินโปรยสารเคมีเข้าสู่ก้อนเมฆโดยตรง หรือโปรยรอบๆ และระหว่างช่องว่างของก้อนเมฆทางด้านเหนือลมให้กระแสลมพัดพาสารเคมีเข้าสู่ก้อนเมฆ
ขั้นตอนที่ 3 โจมตี
เป็นการดัดแปรสภาพอากาศในก้อนเมฆ ที่รวมหนาแน่นแล้วโดยตรงหรือบริเวณใต้ฐานเมฆ หรือบริเวณที่ต้องการชักนำเมฆฝนที่ตกอยู่แล้วเคลื่อนเข้าสู่เป็นการบังคับหรือเหนี่ยวนำให้เมฆที่แก่ตัวจัด แล้วตกเป็นฝนลงสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผลที่วางแผนกำหนดไว้ โดยบินโปรยสารเคมีประเภทที่ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงเข้าไปในเมฆโดยตรงที่ฐานเมฆหรือยอดเมฆหรือที่ระดับระหว่างฐานเมฆและยอดเมฆชิดขอบเมฆทางด้านเหนือลมหรือใช้เครื่องบิน 2 เครื่องโปรยพร้อมกันแบบแซนด์วิช ( Sandwich)