พิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง - เรื่องที่ 8 : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เนื้อหาที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง ในส่วนนี้ได้แก่

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เป็นสถานศึกษา ทดลอง ทดสอบ เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านการเกษตรอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยใช้นักวิชาการจากหลายๆ หน่วยงาน ดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณา-การเป็น “ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ” พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ที่รวบรวมสรรพวิชาของการแก้ไขปัญหาด้านเกษตรกรรมอย่างครบถ้วน

ทั้งเรื่อง น้ำ ดิน ป่า และการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ “ ทฤษฎีใหม่” ซึ่งเกษตรกร หรือผู้สนใจทั่วไปในพื้นที่ สามารถเข้าไป ศึกษาหาความรู้และนำกลับไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเอง

 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีอยู่ในทุกภูมิภาค รวม 6 ศูนย์ ประกอบด้วย

๑. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งแรก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2522 ดำเนินการพัฒนาทางด้านการเกษตรอย่างสมบูรณ์แบบ โดยเน้นการปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของดินและน้ำให้มีความสมบูรณ์ เนื่องจากสภาพดินในพื้นที่บริเวณนี้เสื่อมคุณภาพจนกลายเป็นดินทราย มีการชะล้างพังทลายของดิน รวมทั้งดำเนินการพัฒนาทางด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสด การปลูกพืชระกูลถั่วเป็นพืชแซม การป้องกันศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ การฟื้นฟูสภาพป่าบำรุงพันธุ์ไม้เดิม และไม้มีค่าหายากในภาคตะวันออก ตลอดจนไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ สาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง การเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงาม ซึ่งราษฎรสามารถนำไปประกอบอาชีพเป็นรายได้ ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาตามแนวเกษตรยั่งยืน ( Sustainable Agriculture)

๒. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ

ตั้งอยู่ที่ ต.กุลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส

ตั้งขึ้นเมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2524 มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุในลักษณะผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว ที่มีสภาพเป็นกรด ปรับปรุงดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งดินเค็ม และดินทรายฯลฯ ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินให้กลายเป็นดินที่มีคุณภาพสามารถทำการเพาะปลูกได้ จัดทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินตามแนวทาง “เกษตรทฤษฏีใหม่”

๓. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ

ตั้งอยู่ที่ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2524 เพื่อดำเนินการพัฒนาด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ตลอดจนพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบผสมผสาน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นแถบชายฝั่งทะเลในพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อยกระดับฐานะและความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่และชุมชนโดยรอบ รวมถึงส่งเสริมการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมและรักษาดุลยภาพระหว่างทรัพยากรธรรมชาติกับกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

 

๔. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ

ตั้งอยู่ที่ บ้านนานกเค้า อ.เมือง จ.สกลนคร

ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 เพื่อทำการศึกษาและทดลองงานพัฒนาการเกษตรต่างๆ ตามความเหมาะสม สำหรับเป็นตัวอย่างให้ราษฎรนำไปปฏิบัติ ได้แก่ การพัฒนาป่าไม้ด้วยระบบชลประทาน และการปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ศึกษาทดสอบการปลูกข้าวไร่สายพันธุ์ที่ดีเด่น ศึกษาการปลูกยางพารา และไม้ผลที่เหมาะสมกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

๕. ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ

ตั้งอยู่ที่ ป่าขุนแม่กวง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2525 กับการพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรในรูปแบต่างๆ เช่น ด้านปศุสัตว์และโคนม ด้านเกษตรอุตสาหกรรมที่ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

๖. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ

ตั้งอยู่ที่ ต.สามพระยา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2526 ทำหน้าที่ศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมที่เหมาะสม ควบคู่กับการอนุรักษ์และปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำโดยเน้นการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิมในลักษณะการดำเนินงานแบบ “ป่าไม้หมู่บ้าน” ให้ราษฎรดำเนินการ เพาะกล้าไม้ ทั้งไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้เศรษฐกิจ ศึกษาการป้องกันไฟป่าแบบ “ระบบป่าเปียก” ทำการทดลองปลูกหญ้าแฝก เพื่อการปรับบำรุงดิน รวมทั้งส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมในด้านต่างๆ เช่น เกษตรแบบผสมผสาน การเกษตรในระบบวนเกษตร หรือเกษตรธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า เช่น เนื้อทราย ซึ่งเป็นสัตว์พื้นถิ่นดั้งเดิม เพื่อไปปล่อย กลับคืนสู่ธรรมชาติ