เนื้อหาที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ระบบแสง สี เสียง ในส่วนนี้ได้แก่
ดินตื้น
หมายถึงดินที่มีชั้นลูกรัง ก้อนกรวด เศษหิน ปะปนอยู่ในเนื้อดินมากกว่า 35 % โดยปริมาตร หรือพบชั้นหินพื้น หรือมีชั้นหินปูนมาร์ล ตื้นกว่า 50 ซม. จากผิวดิน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการชอนไชของรากพืช การไถพรวน และแร่ธาตุอาหารต่ำ เป็นเหตุให้พืชที่ปลูกไม่ค่อยเจริญเติบโต และให้ผลผลิตต่ำในการจัดการดินเพื่อปลูกพืช ถ้าดินมีหน้าดินหนามากกว่า 25 ซม. พอจะใช้ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ฯลฯ ได้
การจะให้ได้ผลผลิตดี ควรเน้นการรักษาความชุ่มชื้นของดิน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ร่วมกับการปรับปรุง บำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ และการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
ในพื้นที่ที่มีความลาดชัน สำหรับการปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นจะต้องมีการเตรียมหลุมปลูกให้กว้างและลึกกว่าปกติ พร้อมกับปรับปรุงดินด้วยหน้าดิน หรือนำหน้าดินจากที่อื่นมาคลุกเคล้ากับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก
สำหรับพื้นที่ที่มีลูกรัง ก้อนกรวดและเศษหินลอยหน้า หรือพื้นที่ที่มีหน้าดินน้อยกว่า 25 ซม. ควรใช้ทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ปลูกป่า หรือไม้ยืนต้นโตเร็ว ในพื้นที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมขังเลือกใช้พื้นที่ที่มีหน้าดินลึกกว่า 25 ซม. มาใช้ทำนาโดยมีการปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน
ดินเปรี้ยว
ดินเปรี้ยวจัด หรือกรดกำมะถัน เป็นดินที่มีสารประกอบไพไรท์มากซึ่งเมื่อดินแห้ง หรือสัมผัสกับอากาศ สารไพไรท์จะแปรสภาพเป็นสารประกอบจาโรไซท์ ที่มีลักษณะ เป็นจุดปะสีเหลืองคล้ายสีฟางข้าว หรือมีกรดกำมะถันเกิดขึ้น ทำให้ดินเป็นกรดจัด ค่าpH ต่ำกว่า 4.0 พบในพื้นที่ลาดลุ่มชายฝั่งทะเล ซึ่งเคยมีน้ำทะเลท่วมถึงในอดีต เช่นที่ราบลุ่มภาคกลาง และที่ราบลุ่มตามชายฝั่งภาคใต้ และภาคตะวันออก
ปัญหาของดินเปรี้ยวจัด
คือดินเป็นกรดรุนแรงมาก ทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร มี เหล็ก อลูมินั่ม แมงกานีส ละลายออกมากจนเป็นพิษต่อพืช และจุลินทรีย์ในดิน ในขณะที่แร่ธาตุบางอย่าง เช่นฟอสฟอรัส ถูกตรึงไว้ พืชดูดเอาไปใช้ไม่ได้ น้ำมีรสฝาดไม่เหมาะสมต่อการเกษตร หรือใช้อุปโภค บริโภค
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานวิธีการจัดการกับดินเปรี้ยวจัด ให้สามารถเพาะปลูกพืชได้ ด้วยโครงการ “แกล้งดิน” โดยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีทางดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา
ทำให้ดินเป็นกรดจัดสุดขีด จนถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงมาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ โดยการปรับปรุงดิน มี 3 วิธี ตามสภาพของดิน และตามความเหมาะสมคือ
1.ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เมื่อล้างดินเปรี้ยวให้คลายลงแล้วดินจะมีค่า pH เพิ่มขึ้น อีกทั้งสารละลายเหล็ก และอลูมินั่มที่เป็นพิษเจือจางลง จนทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะถ้าหากใช้ปุ๋ยไนโตรเจน และฟอสเฟตช่วยก็สามารถให้ผลผลิตได้ดี
2.การนำปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน เช่นปูนมาร์ล ซึ่งปริมาณของปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเป็นกรดของดิน
3.การใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้าง และควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เป็นวิธีการที่สมบูรณ์ที่สุด จะใช้ได้ผลมากในพื้นที่ที่ดินเป็นกรดจัดรุนแรง และถูกปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน
ดินเค็ม
หมายถึงดินที่มีปริมาณเกลือกสะสมมากจนเป็นอันตรายต่อพืช แพร่กระจายมากทั้งในภาตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและแถบชายฝั่งทะเล ส่งผลกระทบต่อการเกษตรกรรม ยิ่งถ้าดินมีความเค็มจัดจนมีคราบเกลือลอยหน้าจะปลูกอะไรไม่ได้เลย แหล่งกำเนิดดินเค็มในแต่ละแห่งมาจากสาเหตุแตกต่างกัน รวมทั้งชนิดของเกลือก็แตกต่างกัน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือดินเค็มชายฝั่งทะเล และดินเค็มบก
ดินเค็มชายฝั่งทะเล
บางบริเวณชายฝั่งที่มีน้ำทะเลท่วมถึง เนื้อดินเป็นเลนสีเทา บางแห่งมีสารประกอบกำมะถันปนอยู่มาก เมื่อเปียกดินจะมีสภาพเป็นกลาง หรือเป็นด่าง แต่เมื่อระบายน้ำออกจนดินแห้งดินจะมีสภาพเป็นกรดจัดมาก
ดินเค็มบก
พบในภาคกลางเป็นดินเค็ม และดินเปรี้ยวจัด เกิดขึ้นเนื่องจากยังมีน้ำกร่อยขึ้นถึงเป็นครั้งคราวมีสารประกอบของกำมะถันจนมองเห็นเป็นจุดปะสีเหลืองฟางข้าว ส่วนที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นดินเค็มที่มีเกลือกแทรกอยู่ (Salt bearing rock) มีเกลือโซเดียมสูง เนื่องจากมีหินเกลือธรรมชาติอยู่ใต้พื้นดิน ฤดูแล้งมีคราบเกลือโซเดียมสูงเนื่องจากมีหินเกลือธรรมชาติอยู่ใต้พื้นดิน ฤดูแล้งมีคราบเกลือเกิดขึ้นตามผิวดินมากกว่า 10 %ของพื้นที่
การแพร่กระจายของดินเค็ม
เป็นผลเกิดจากการใช้ที่ดินอย่างไม่ระมัดระวัง เช่นการทำลายป่าชายเลนและการทำนากุ้ง ทำให้น้ำทะเลไหล หรือซึมเข้าสู่พื้นที่น้ำจืด การสูบน้ำบาดาลที่เป็นน้ำกร่อยขึ้นมาใช้ การตัดถางต้นไม้บริเวณพื้นที่แหล่งเกลือ การสร้างอ่างเก็บน้ำบนดินที่มีน้ำใต้ดินเค็ม หรือมีการจัดระบบชลประทานผ่านพื้นที่ดินเค็ม เกลือจะละลายไปกับน้ำ แพร่กระจายไปที่อื่น ทำให้น้ำและดินบริเวณอื่นได้รับความเสียหายไปด้วย
แนวทางการจัดการ
1.ป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม โดยวิธีวิศวกรรม เช่นการสร้างโพลเดอร์ และการจัดทำระบบระบายน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของเกลือ และโดยทางชีววิธี เช่นการปลูกป่าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มในบริเวณพื้นที่รับน้ำ เพื่อลดการเพิ่มเติมน้ำในแหล่งน้ำใต้ดิน
2.การแก้ไขโดยการล้างดิน และปรับปรุงดิน โดยการล้างด้วยน้ำทั้งแบบต่อเนื่อง และแบบเป็นช่วงเวลา ร่วมกับการปรับปรุงดินใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ควบคู่ไปกับการนำพันธุ์ข้าวทนเค็ม และพืชทนเค็ม อื่นๆ มาปลูก เช่น กระเจี๊ยบแดง หน่อไม้ฝรั่ง คำฝอย มะเขือเทศ มันเทศ หรือทำการเกษตรแบบผสมผสาน