ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ศาสตร์ของพระราชา
“ ยินดีตอนรับสู่ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ”
ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ตั้งอยู่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวันครนายก มีเนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๑๘ ตารางวา เป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ซื้อไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยมีรับสั่งในขณะนั้นว่า อยากมีที่ดินแถวนี้เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เจริญก็ตาม แต่เนื่องจากบริเวณนี้เต็มไปด้วยน้ำตก และป่าเขาใหญ่ ในอนาคตจะถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ถนนหนทาง ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท ตลอดจนสนามกอล์ฟ จะเข้ามาในพื้นที่ เมื่อเจริญขึ้นนักท่องเที่ยวจะเข้ามากันจำนวนมาก อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติที่เป็นอยู่ จึงอยากมีที่ดินแถวนี้สักผืนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นศูนย์แสดงแนวคิดของพระองค์ท่านเกี่ยวกับธรรมชาติ เพื่อที่นักท่องเที่ยวจะได้เกิดสำนึกรักธรรมชาติ เมื่อได้เข้ามาที่ศูนย์แห่งนี้เดิมทีซื้อไว้เป็นทุ่งนา จนปี ๒๕๔๕ อาจารย์สุเมธ ตันติเวชกุล ร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ขันอาสาที่จะมาพัฒนาที่ดินแปลงนี้ โดยขออนุญาตต่อมูลนิธิชัยพัฒนา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานชื่อโครงการว่า “ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ ” เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
สมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยได้วางแผนให้คนที่เข้ามาศึกษาแนวคิดของพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับธรรมชาติได้เข้าใจถึงแนวคิดให้ง่ายจึงได้ แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนที่หนึ่งในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ระบบ แสง สี เสียง ซึ่งบรรจุไว้ด้วยเนื้อหาเป็นวีดีทัศน์ ความรู้เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องคน เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง และฝนหลวง เมื่อออกจากพิพิธภัณฑ์ได้พบเห็น ส่วนที่สองพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตได้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน เริ่มจากภูผาสู่มหานที โดยจัดพื้นที่ออกเป็น ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
๑. ภาคเหนือทำเป็นภูเขา มีน้ำตก แสดงแนวคิด พระเจ้าอยู่หัวทั้งหมด ๕ เรื่อง คือ
๑. ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ได้แก่ ป่าพออยู่ พอกิน พอพลังงาน และพอร่มเย็น
๒. การใช้หญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของดิน
๓. ป่าเปียกกันไฟ
๔. ฝายชะลอความชุ่มชื้น
๕.การปลูกป่าในใจคน
๒. ภาคกลาง แสดงแนวคิดเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ การแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรออกเป็น ๔ ส่วนคือ พื้นที่น้ำ พื้นที่ผักและผลไม้ พื้นที่ทำนาข้าว พื้นที่อยู่อาศัย
๓. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงแนวคิดเกี่ยวกับเมื่อเกษตรกรประสบภาวะฝนแล้ง พระองค์มอบแนวทางให้เกษตรกรสามารถที่จะมีรายได้จากอาชีพเสริมทดแทน เช่น ธนาคารข้าว ปศุสัตว์ การเลี้ยงปลา เพาะเห็ด ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนและการแปรรูปต่างๆ การทำปุ๋ย เป็นต้น
๔. ภาคใต้ แสดงแนวคิดการป้องกันหรือบรรเทาความเดือดร้อน จากน้ำท่วมที่พระองค์เรียกว่า ทฤษฎีแก้มลิง การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ที่เรียกว่า ทฤษฎีแกล้งดิน การทำน้ำมันไบโอดีเซล การเผาถ่านจากเศษไม้
– ในแหล่งน้ำ แสดงแนวคิดเกี่ยวการบำบัดน้ำเสีย โดยใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา ทฤษฎีการใช้พืชน้ำบำบัดน้ำเสีย ที่พระองค์ใช้แก้ไขน้ำเสีย ณ บึงมักกะสัน กรุงเทพมหานคร ที่เรียกว่า อธรรม ปราบอธรรม ให้เป็นธรรมะ
– การบำบัดของเสียที่ออกจากตัวคน คือ ปัสสาวะ อุจจาระ ที่พระองค์มอบแนวคิดนี้ให้แก่จังหวัดนนทบุรี ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยการไปบำบัดในถัง ๑๕ วัน หมดกลิ่น ๒๘ วัน หมดเชื้อโรค แล้วนำมาทำปุ๋ย
นอกจากนี้ทางสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยยังไช้หลักการเรียนรู้ PLAY บวก LEARN เท่ากับ PLERN เพื่อให้คนที่มาเรียนรู้ได้สนุกกับการเรียนรู้ เช่น เส้นทางเครื่องแกง สมุนไพรรูปคน น้ำแดดเดียว ปัจจุบันศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ อยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา และเปิดเป็นสถานที่อบรมหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผู้ที่สนใจมาเรียนรู้ทั้งการศึกษาดูงาน และอบรมได้ที่ โทรศัพท์ หมายเลข ๐๓๗ – ๓๘๔๐๔๙